การระงับข้อพิพาทออนไลน์

การระงับข้อพิพาทออนไลน์

การระงับข้อพิพาทออนไลน์



          ปัจจุบันการซื้อขายสินค้าและบริการออนไลน์ รวมทั้งการทำธุรกรรมต่าง ๆ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังตอบสนองต่อความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคได้มากที่สุดเมื่อการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Commerce : e-Commerce) ได้รับความนิยมและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ ข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาททางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์[1] หากใช้วิธีการดำเนินคดีทางศาลอาจทำให้เสียเวลา เกิดความยุ่งยาก และเสียค่าใช้จ่ายจนเกินสมควร ด้วยเหตุดังกล่าว จึงมีแนวความคิดที่จะนำวิธีการระงับข้อพิพาทออนไลน์ (Online Dispute Resolution : Principles and Things to know for Digital Entrepreneurs หรือ ODR) มาใช้ในการระงับข้อพิพาทที่เกิดจากการทำธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์[2]

          วิธีการระงับข้อพิพาทออนไลน์[3] แบ่งได้เป็น 3 วิธี ดังนี้
 
 
              

          สำหรับการนำการระงับข้อพิพาทออนไลน์มาใช้ในประเทศไทย[4] ปรากฏว่า พบอุปสรรคที่สำคัญ คือ การที่คนไทยยังไม่มีความเข้าใจในกระบวนการระงับข้อพิพาทออนไลน์ สืบเนื่องจากกระบวนการระงับข้อพิพาทของไทยในปัจจุบัน เป็นการดำเนินการโดยผู้ร้องเรียนต้องติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง ซึ่งปัญหาที่พบ คือ การที่ไม่มีกฎหมายให้อำนาจหน่วยงานในการระงับข้อพิพาทจนสิ้นสุดกระบวนการ อีกทั้งยังขาดบุคลากรและเทคโนโลยีในการดำเนินงานที่เพียงพอต่อปริมาณข้อร้องเรียนที่เพิ่มขึ้น แต่ในระยะหลังมานี้ หน่วยงานต่าง ๆ ในประเทศไทยได้เริ่มนำการระงับข้อพิพาทออนไลน์มาใช้แล้ว ยกตัวอย่าง

          1. กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนากระบวนการระงับข้อพิพาทด้านทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญากระทรวงพาณิชย์ และสถาบันอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม เมื่อปี พ.ศ. 2563 ในการนำระบบระงับข้อพิพาทออนไลน์ (Online Dispute Resolution: ODR) มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการระงับข้อพิพาทด้านทรัพย์สินทางปัญญา โดยผู้ใช้บริการรายแรกสามารถเจรจาตกลงกัน และมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงระงับข้อพิพาทร่วมกันภายในเวลาเพียง 2 วันทำการ

          2. สถาบันอนุญาโตตุลาการ ได้พัฒนาระบบการระงับข้อพิพาทออนไลน์ที่เรียกว่า TalkDD เพื่อรองรับการรับเรื่องร้องเรียน การเจรจา และประนีประนอมข้อพิพาทออนไลน์
          นอกจากนี้ มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เริ่มมีการจัดทำระบบเพื่อรับและแก้ไขเรื่องร้องเรียน ได้แก่ (1) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กรณีควบคุมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (2) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนจากผู้ประกอบการ (3) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข มีศูนย์เฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น อาหาร ยา และเครื่องสำอาง รวมทั้งทำหน้าที่กำกับดูแลการซื้อขายทางออนไลน์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (4) ศูนย์คุ้มครองผู้ให้บริการทางการเงิน (ศคง.) สังกัดธนาคารแห่งประเทศไทย มีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับบริการด้านการเงิน หรือการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (5) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ทำหน้าที่เป็นศูนย์คุ้มครองการทำประกันภัย (6) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นหน่วยงานภาคประชาชนที่ให้การช่วยเหลือผู้บริโภคเพื่อแก้ไขปัญหาของผู้บริโภค

          กฎหมายที่ใช้ระงับข้อพิพาทของประเทศไทย และข้อพิจารณาในการนำมาใช้กับการระงับข้อพิพาทออนไลน์ จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่
          1. พระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562[5]
              พระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยมีเจตนารมณ์เพื่อนำกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่งซึ่งมีทุนทรัพย์ไม่มากนักและข้อพิพาททางอาญาบางประเภทมากำหนดเป็นกฎหมายกลาง โดยการระงับข้อพิพาทแยกได้เป็น 2 กรณี ดังนี้

                    1.1 การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่ง
                          การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่งให้กระทำได้ในกรณี ดังต่อไปนี้ (1) ข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินที่มิใช่ข้อพิพาทเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ (2) ข้อพิพาทระหว่างทายาทเกี่ยวกับทรัพย์มรดก (3) ข้อพิพาทอื่นที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา (4) ข้อพิพาทอื่นนอกจาก (1) (2) และ (3) ที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 5 ล้านบาท หรือไม่เกินจำนวนตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
                           ทั้งนี้ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่งตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคล สิทธิในครอบครัว หรือกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ไม่สามารถกระทำได้
                            สำหรับกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่ง ถ้าคู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดประสงค์จะให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทให้ยื่นคำร้องต่อหน่วยงานของรัฐซึ่งดำเนินการระงับข้อพิพาทโดยวิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยคู่กรณีอีกฝ่ายต้องสมัครใจเข้าสู่กระบวนการและตกลงร่วมกันแต่งตั้งผู้ไกล่เกลี่ยจากบัญชีผู้ไกล่เกลี่ยที่หน่วยงานจัดทำไว้ เมื่อคู่กรณีได้มีข้อตกลงเป็นประการใดแล้ว ให้ผู้ไกล่เกลี่ยบันทึกข้อตกลงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทหรือจัดให้มีการบันทึกข้อตกลงระงับข้อพิพาทนั้นไว้เป็นลายลักษณ์อักษร โดยให้คู่กรณีและผู้ไกล่เกลี่ยลงลายมือชื่อไว้ ในการบังคับตามข้อตกลงระงับข้อพิพาท เมื่อคู่กรณีฝ่ายหนึ่งเรียกร้องให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติตามข้อตกลงระงับข้อพิพาท แต่คู่กรณีฝ่ายที่ถูกเรียกร้องนั้นไม่ปฏิบัติตาม คู่กรณีฝ่ายที่เรียกร้องอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้บังคับตามข้อตกลงระงับข้อพิพาทได้

                    1.2 การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา
                          สามารถแยกได้เป็น 2 กรณี ดังนี้ (1) การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญากรณีทั่วไป ซึ่งกระทำได้ในกรณีที่เป็นความผิดอันยอมความได้และความผิดลหุโทษบางประเภท โดยให้นำกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่งมาใช้บังคับกับกรณีที่ไม่ได้มีบทบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะโดยอนุโลมด้วย (2) การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาในชั้นการสอบสวน ซึ่งกระทำได้ในกรณีที่เป็นความผิดอันยอมความได้ ความผิดลหุโทษบางประเภท และความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 3 ปี ตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติ

                          ทั้งนี้ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา คู่กรณีต้องเข้าร่วมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้วยตนเอง และต้องกระทำเป็นการลับ
                          เมื่อพิจารณาเนื้อหาสาระของพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 แล้ว ปรากฏว่ายังไม่มีการกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์ไว้โดยตรง อีกทั้งกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้อง เช่น ประกาศกระทรวงยุติธรรม เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยื่นคำร้องขอไกล่เกลี่ยข้อพิพาท รายละเอียดของคำร้องและระยะเวลาในการพิจารณาคำร้องขอไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 ก็เพียงแต่กำหนดให้สามารถยื่นคำร้องขอไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ต่อนายทะเบียนได้เท่านั้น ส่วนระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยื่นคำร้อง การพิจารณา และระยะเวลาการสั่งคำร้อง และกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาในชั้นการสอบสวน พ.ศ. 2564 ก็มิได้กล่าวถึงการยื่นคำร้องขอไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ไว้แต่อย่างใด อย่างไรก็ดี แม้จะไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวไว้โดยตรงก็ตามแต่ผู้เขียนมีความเห็นทางวิชาการว่า มิได้มีบทบัญญัติเป็นข้อห้าม และสามารถนำเอาวิธีการ และกลไกต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทออนไลน์มาใช้ในกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ นอกจากนี้ การกำหนดให้ผู้ไกล่เกลี่ยต้องดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทต่อหน้าคู่กรณีทุกฝ่ายในกรณีที่เป็นข้อพิพาททางแพ่ง หรือการกำหนดให้คู่กรณีต้องเข้าร่วมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้วยตนเองและต้องกระทำเป็นการลับ ในกรณีที่เป็นข้อพิพาททางอาญาก็มิได้เป็นอุปสรรค หรือเป็นข้อห้ามมิให้นำเอาวิธีการระงับข้อพิพาทออนไลน์มาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งการใช้วิธีการระงับข้อพิพาทออนไลน์จะมีความเหมาะสม สะดวกรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า เพียงแต่ต้องกำหนดรูปแบบ วิธีการหรือกระบวนการที่จะนำมาใช้ให้สอดคล้องและไม่ขัดแย้งกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายฉบับนี้ รวมทั้งต้องพิจารณาบริบทและข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย

 
                
      
          2. พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545[6] เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยมีเจตนารมณ์เพื่อปรับปรุงพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 ให้มีความทันสมัย และเหมาะสมกับการระงับข้อพิพาทในปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งการระงับข้อพิพาททางการพาณิชย์ระหว่างประเทศ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

               (1) สัญญาอนุญาโตตุลาการ หมายถึง สัญญาที่คู่สัญญาตกลงกันให้ระงับข้อพิพาททั้งหมด หรือบางส่วนทั้งที่เกิดขึ้นแล้ว หรือที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตไม่ว่าจะเกิดจากนิติสัมพันธ์ทางสัญญาหรือไม่โดยวิธีอนุญาโตตุลาการ ซึ่งอาจจะเป็นเพียงข้อสัญญาหนึ่งในสัญญาหลัก หรือทำเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการแยกต่างหากก็ได้ โดยสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชน ไม่ว่าจะเป็นสัญญาทางปกครองหรือไม่ก็ตาม คู่สัญญาอาจตกลงให้ใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทได้เช่นเดียวกัน และหากคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไปฟ้องคดีเกี่ยวกับข้อพิพาทตามสัญญาอนุญาโตตุลาการโดยมิได้เสนอข้อพิพาทนั้นต่อคณะอนุญาโตตุลาการตามสัญญา คู่สัญญาฝ่ายที่ถูกฟ้องอาจยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้จำหน่ายคดีนั้นได้ ทั้งนี้ เพื่อให้คู่สัญญาไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการตามที่ได้ตกลงกันไว้ต่อไป

               (2) สำหรับการตั้งคณะอนุญาโตตุลาการนั้น คู่พิพาทจะต้องตกลงกันตั้งคณะอนุญาโตตุลาการขึ้นมา แต่ในกรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจยื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งตั้งคณะอนุญาโตตุลาการแทน

               (3) เรื่องวิธีพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการ เนื่องจากคณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจในการชี้ขาดข้อพิพาท จึงต้องกำหนดวิธีพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการเพื่อให้มีกลไกการดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ที่ชัดเจน มีมาตรฐาน และได้รับการยอมรับจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

               (4) ส่วนการทำคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการนั้น คณอนุญาโตตุลาการต้องชี้ขาดข้อพิพาทตามกฎหมายที่คู่พิพาทกำหนด ถ้ามิได้กำหนดไว้ ให้ชี้ขาดข้อพิพาทตามกฎหมายไทย และการวินิจฉัยชี้ขาดต้องเป็นไปตามข้อสัญญา และหากเป็นข้อพิพาททางการค้าจะต้องคำนึงถึงธรรมเนียมปฏิบัติทางการค้าที่ใช้กับธุรกรรมนั้นด้วย อย่างไรก็ดีในระหว่างดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ คู่พิพาทอาจมีการประนีประนอมยอมความกันและให้คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดตามข้อตกลงนั้นได้ ทั้งนี้ เมื่อเสร็จสิ้นการพิจารณาแล้ว คณะอนุญาโตตุลาการต้องทำคำชี้ขาดเป็นหนังสือและระบุเหตุผลแห่งการวินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้ง พร้อมทั้งส่งสำเนาคำชี้ขาดนั้นให้แก่คู่พิพาททุกฝ่าย การดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการจะสิ้นสุดเมื่อมีคำชี้ขาดเสร็จเด็ดขาดหรือคณะอนุญาโตตุลาการมีคำสั่งให้ยุติกระบวนพิจารณา

               (5) กำหนดเหตุในการคัดค้านคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ
                     เมื่อพิจารณาเนื้อหาสาระของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 แล้ว ปรากฏว่ายังไม่มีการกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการอนุญาโตตุลาการออนไลน์ไว้โดยตรง อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติสถาบันอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2550[7]มาตรา 18 วรรคหนึ่ง (5) บัญญัติให้คณะกรรมการสถาบันอนุญาโตตุลาการมีอำนาจหน้าที่ออกข้อบังคับว่าด้วยการประนอมข้อพิพาทและอนุญาโตตุลาการ ดังนั้น คณะกรรมการสถาบันอนุญาโตตุลาการจึงออกข้อบังคับสถาบันอนุญาโตตุลาการ ว่าด้วยการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีการทางออนไลน์ พ.ศ. 2563
[8] โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
 


 
                     
                     1) ข้อบังคับนี้ใช้บังคับแก่การระงับข้อพิพาทด้วยวิธีการระงับข้อพิพาททางออนไลน์โดยที่คู่พิพาทดำเนินการผ่านระบบระงับข้อพิพาททางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยการเจรจาต่อรองการประนอมข้อพิพาท และการอนุญาโตตุลาการ หรือวิธีการอย่างอื่นตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดทั้งนี้ ตามที่คู่พิพาทตกลงกันให้สถาบันอนุญาโตตุลาการเป็นผู้บริหารจัดการคดีด้วยระบบการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีการทางออนไลน์ที่สถาบันอนุญาโตตุลาการจัดทำขึ้น

                     2) กระบวนการจะเริ่มจากการที่ผู้เรียกร้องที่ประสงค์จะระงับข้อพิพาทด้วยวิธีการระงับข้อพิพาททางออนไลน์ต้องยื่นคำเรียกร้องตามระบบที่สถาบันกำหนด จากนั้นสถาบันจะแจ้งผ่านระบบให้ผู้คัดค้านทราบรวมถึงการแจ้งสิทธิต่าง ๆ ในการดำเนินการระงับข้อพิพาทด้วย และเมื่อผู้คัดค้านได้ยื่นคำคัดค้านและข้อมูลต่าง ๆ ถูกต้องครบถ้วนตามระบบแล้ว สถาบันจะดำเนินการระงับข้อพาทตามที่ระบบกำหนดต่อไป

                     3) คู่พิพาท ผู้ประนอม และคณะอนุญาโตตุลาการ มีหน้าที่ต้องรักษาความลับ และจะเปิดเผยต่อบุคคลภายนอก ซึ่งข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาต่อรอง การประนอมข้อพิพาท การอนุญาโตตุลาการ สัญญาประนีประนอมยอมความ และคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการไม่ได้เว้นแต่เป็นการกระทำที่ข้อบังคับนี้กำหนด เช่น เพื่อบังคับการให้เป็นไปตามสิทธิทางกฎหมาย

               นอกจากนี้ จากการตรวจสอบกฎหมายลำดับรองฉบับต่าง ๆ ที่มีอยู่ในระบบกฎหมายไทย พบว่า มีกฎหมายลำดับรองที่กำหนดให้นำกระบวนการระงับข้อพิพาทออนไลน์มาใช้ เช่น
               (1) กฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ. 2553[9] และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2564[10] มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งของประชาชนที่ดำเนินการโดยกรมการปกครอง อันเป็นการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในเขตอำเภอของจังหวัดต่าง ๆ และดำเนินการโดยกรุงเทพมหานคร ในเขตกรุงเทพมหานคร และสามารถนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้กับการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทได้ด้วย ซึ่งปัจจุบันอธิบดีกรมการปกครองได้อาศัยอำนาจตามข้อ 2/1 ออกระเบียบกรมการปกครองว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2566[11] แล้ว โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งก็คือวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป สำหรับกรุงเทพมหานครนั้น ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ....[12] ทั้งนี้ ตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง วิธีการ ระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุด และข้อมูลประกอบการรับฟังความคิดเห็นของร่างระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ....[13] ประกาศ ณ วันที่ 9 ตุลาคม 2566 ซึ่งครบกำหนดการรับฟังความคิดเห็น เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566 ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการจัดทำสรุปผลการรับฟังความเห็น โดยมีผู้แสดงความคิดเห็นจำนวน 22 คน ซึ่งกรุงเทพมหานครจะนำมาใช้ประกอบการพิจารณาจัดทำระเบียบดังกล่าวต่อไป[14]

               (2) ระเบียบสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยว่าด้วยการรับและพิจารณาข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการประกันภัย พ.ศ. 2564[15] มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการรับและพิจารณาข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการประกันภัยโดยกำหนดให้สามารถยื่นข้อร้องเรียนดังกล่าวผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้

               (3) ประกาศสำนักงานศาลยุติธรรม เรื่อง การไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 20 ตรี[16] ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดวิธีการในการยื่นคำร้อง การตรวจสอบข้อมูล และการสอบถามความสมัครใจเข้าร่วมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทการจัดทำข้อตกลงหรือสัญญาประนีประนอมยอมความ การติดตามผล รวมทั้งเรื่องสารบบและสำนวนความ ผ่านทางระบบที่เรียกว่า “ระบบ CIOS” ซึ่งเป็นระบบบริการข้อมูลคดีศาลยุติธรรม (Case Information Online Service: CIOS)

 
                      

          สรุปได้ว่า การระงับข้อพิพาทออนไลน์นั้นเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อช่วยลดปริมาณคดีที่จะนำขึ้นสู่ศาล เพราะผู้บริโภคจะสามารถเข้าถึงกระบวนการระงับข้อพิพาทนอกศาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้รับความเป็นธรรม และความรวดเร็ว แต่มีข้อสังเกตว่าการระงับข้อพิพาทออนไลน์ นั้น เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลระบบจะต้องเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการระงับข้อพิพาทออนไลน์เพื่อที่คู่พิพาทจะได้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยเปิดเผยผ่านเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะได้อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ระบบ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ดูแลระบบควรจะมีมาตรการในการรักษาความลับของคู่พิพาทโดยเปิดเผยข้อมูลเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น และควรมีมาตรการป้องกันการเข้าถึงข้อมูลสำหรับคู่พิพาท เพื่อทำให้การระงับข้อพิพาทออนไลน์เป็นทางเลือกที่สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคหากต้องเข้าสู่กระบวนการให้ได้รับการยอมรับมากขึ้น และแม้ว่าประเทศไทยจะมิได้มีกฎหมายที่เกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทออนไลน์ไว้โดยเฉพาะก็ตามแต่กฎหมายที่เกี่ยวกับการระงับข้อพิพาท เช่น พระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ยังสามารถนำกระบวนการที่เกี่ยวข้องมาเทียบเคียงปรับใช้กับการระงับข้อพิพาทออนไลน์ได้ อย่างไรก็ดี หากประเทศไทยจะมีกฎหมายที่ใช้บังคับกับการระงับข้อพิพาทออนไลน์โดยตรง ก็จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และผู้บริโภค อันมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป.

 


-------------------------
[1] สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, “การระงับข้อพิพาทออนไลน์ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล (Online Dispute Resolution in Digital Economy Era),” น. 1, สืบค้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566, https://qr.senate.go.th/sh/f/?k=RY4AG.
[2] เพิ่งอ้าง, น.3.
[3] จณินธรณ์ พรานขุน, “ปัญหาทางกฎหมายในการส่งเสริมการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการทางอิเล็กทรอนิกส์ของไทย,” (วิทยานิพนธ์ปริญญานิติศาสตรมหาบัณฑิต, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม, 2562), น. 22-26, https://qr.senate.go.th/sh/f/?k=TO9VJ.
[4] อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 1, น. 11-19.
[5] สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, “พระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562,” น. 5-9, สืบค้นเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2566, https://qr.senate.go.th/sh/f/?k=2U4IX.
[6] สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, “พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545,” น.8, 17, สืบค้นเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2566, https://qr.senate.go.th/sh/f/?k=MARNJ.
[7] สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, “พระราชบัญญัติสถาบันอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2550,” น.4, สืบค้นเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566, https://qr.senate.go.th/sh/f/?k=XPD05.
[8] ข้อบังคับสถาบันอนุญาโตตุลาการ ว่าด้วยการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีการทางออนไลน์ พ.ศ. 2563, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 137 ตอนพิเศษ 173 ง (30 กรกฎาคม 2563) : น.70-75, https://qr.senate.go.th/sh/f/?k=1JYMI.
[9] กฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ. 2553, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 127 ตอนที่ 54 ก (7 กันยายน 2553) : น.13, https://qr.senate.go.th/sh/f/?k=L3VF4.
[10] กฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 139 ตอนที่ 3 ก (7 มกราคม 2565) : น.3, https://qr.senate.go.th/sh/f/?k=0DAIF.
[11] ระเบียบกรมการปกครองว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2566, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 140 ตอนพิเศษ 174 ง (18 กรกฎาคม 2566) : น.4, https://qr.senate.go.th/sh/f/?k=VUZEV.
[12] ระบบกลางทางกฎหมาย, “ร่างระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ....,” น.1-4, สืบค้นเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566, https://qr.senate.go.th/sh/f/?k=JW8FE.
[13] แนวหน้า, “เชิญแสดงความเห็นร่างระเบียบกทม. ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่งทางเว็บไซต์,” สืบค้นเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566, https://qr.senate.go.th/sh/f/?k=508GK.
[14] ข้อมูลจากการประสานงานกับเจ้าหน้าที่สำนักงานปกครองและทะเบียน สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร.
[15] สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.), “ระเบียบสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยว่าด้วยการรับและพิจารณาข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการประกันภัย พ.ศ. 2564,” น.8, 17, สืบค้นเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566, https://qr.senate.go.th/sh/f/?k=NREM5.
[16] สำนักส่งเสริมงานตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม, “ประกาศสำนักงานศาลยุติธรรม เรื่อง การไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 20 ตรี,” น.8, 17, สืบค้นเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566, https://qr.senate.go.th/sh/f/?k=21CGG.


จัดทำโดย นางสาวจิตรกาน เจียรตระกูล วิทยากรชำนาญการ กลุ่มงานกฎหมาย 2 สำนักกฎหมาย
นำข้อมูลเข้าสู่ระบบโดย : นางสาวสินี ชึรัมย์ เจ้าพนักงานธุรการอาวุโส กลุ่มงานผลิตเอกสารเผยแพร่ สำนักประชาสัมพันธ์
ที่มาภาพ : https://www.freepik.com